ใบงาน.คอม ข่าวการศึกษาได้นำรายละเอียดประเด็นที่โซเชียลแห่ติดแฮชแท็กทําไมครูไทยอยากลาออก สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาบิดเบี้ยว ซึ่งถือเป็นแอชแท็กดังที่มีชาวเน็ตเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างได้เลยนะคะ
จากกรณีข่าวคราวในวงการการศึกษาไทยหลายต่อหลายเคส ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนปัญหามากมายที่คนในระบบ โดยเฉพาะบุคลากรครูต้องเผชิญ จนได้เห็นข่าวครูสาวยื่นจดหมายลาออก พร้อมระบุปัญหาแบบจัดหนัก ทั้งเรื่องระบบการประเมินครู ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนหนังสือ ไปจนถึงปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด ที่เป็นอุปสรรคทั้งต่อผู้สอน และผู้เรียน
มาจนถึงเคสล่าสุด ที่มีการแชร์เอกสารคำสั่งโรงเรียน แต่งตั้งครูคนเดียวให้รับหน้าที่ 4 ตำแหน่ง โดยครูคนเดียวกันนี้ยังรับหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน เซ็นอนุมัติคำสั่งเอง ทั้งที่ตนเองเพิ่งจะบรรจุครูมาได้แค่ปีเดียว เพราะปัญหาครูในโรงเรียนเหลือแค่ 2 คน จนต้องแบกภาระหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ยังไม่รวมถึงข่าวคราวฉาวๆ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจัดทริปศึกษาดูงาน แต่กลับถูกขุดคุ้ยว่าเบิกงบมาใช้ศึกษาดูงาน 3 วัน 2 คืน แต่ดูงานจริงไม่กี่ชั่วโมง ที่เหลือเป็นการเที่ยวทะเล พักผ่อนสุดชิล จนทางโรงเรียนต้องรีบออกมาชี้แจงว่าทำไปตามระบบระเบียบถูกต้อง แต่ก็ยังไม่ทำให้สังคมหายเคลือบแคลงสงสัย
ปัญหาที่ร่ายยาวมาทั้งหมดนี้ ทำให้โลกออนไลน์หันมาจี้ประเด็นนี้กันอย่างร้อนแรง จนผลักดันให้แฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก พุ่งติดเทรนด์ในทวิตเตอร์เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.)
ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนต่างมาแชร์เรื่องราวทั้งจากประสบการณ์ตรง และจากที่พบเห็นคนใกล้ตัว โดยชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่ตัวบุคคล แต่ต้องแก้กันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเรื่องการใช้งานครูเกินหน้าที่ ไม่ใช่แค่สอนนักเรียน แต่ยังต้องมาทำเอกสารประเมินคุณภาพ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานสอนเลย บางรายหนักถึงขั้นต้องทำงานเสิร์ฟอาหาร เลี้ยงต้อนรับแขกผู้ใหญ่ ไปจนถึงช่วยเหลืองานส่วนตัว เพราะผู้บริหารใช้อำนาจในทางที่ผิด
นอกจากนี้ยังชี้ไปถึงปัญหาค่าตอบแทนข้าราชการครู ที่ไม่ได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ดังที่จะได้เห็นจากข่าวรับสมัครครูที่ให้เงินเดือน 6,500 บาท ที่ถูกวิจารณ์ว่าค่าตอบแทนน้อยจนไม่พอใช้ แต่ยังมีอดีตครูเกษียณออกมาโต้แย้ง ว่าเด็กสมัยใหม่มัวแต่เลือกงาน ทั้งที่เมื่อก่อนครูได้เงินเดือนแค่ 2,500 บาท ก็ยังอยู่กันมาได้ ยิ่งสะท้อนให้เห็นภาพชัดของบุคลากรเก่าแก่ตกยุค ไม่เคยสนใจสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนมองข้ามปัญหาที่เกิดขึ้น และยังส่งต่อมรดกปัญหาเหล่านี้ต่อไปยังครูรุ่นใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด
ขอขอบคุณที่มา : Sanook